คำถามน่ารู้เกี่ยวกับโรคเชื้อรา
โรคเชื้อราคืออะไร?
โรคเชื้อรา หรือโรคเชื้อราที่ผิวหนัง เป็นการติดเชื้อราของเซลล์ผิวหนังชั้นนอก ซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิด โดยกลุ่มเชื้อราที่พบบ่อยคือ กลุ่มที่เป็นชนิดตื้น คือการติดเชื้อราผิวหนังส่วนบนในชั้นขี้ไคล เช่น กลาก เกลื้อน การติดเชื้อยีสต์แคนดิดา ซึ่งสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย
สาเหตุการติดเชื้อรามาจากอะไร?
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเชื้อราคือ การขาดสุขอนามัยที่ดี รักษาความสะอาดผิวหนังไม่เพียงพอ ผิวหนังอับชื้นเสมอหรืออาจเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อราโดยตรง ทั้งจากคนหรือการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ร่วมกับสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมของผิวหนังของผู้ติดเชื้อ เช่น ผิวหนังอับชื้น ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี
โรคเชื้อราเกิดขึ้นกับร่างกายส่วนไหนได้บ้าง
สามารถเกิดได้กับร่างกายทุกส่วน ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จะเรียกชื่อแตกต่างกันตาม อวัยวะหรือบริเวณที่ติดเชื้อรา เช่นเชื้อราที่หนังศีรษะ บริเวณขาหนีบจะเรียก สังคัง หรือบริเวณเท้า ง่ามนิ้วเท้าจะเรียก ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า หรือเชื้อราในช่องคลอด เป็นต้น
อาการส่วนใหญ่ของโรคเชื้อรา
หากเกิดที่ผิวหนัง จะทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็น มีผื่น คัน บวม แดง และอาจมีตุ่มใสหรือเป็นแผล เช่น โรคกลาก เกลื้อน โรคน้ำกัดเท้า หรือเกิดอาการอักเสบ บวม หนอง ตกขาว และมีกลิ่น เช่น โรคเชื้อราใน ช่องคลอด เป็นต้น
โรคเชื้อราสามารถติดต่อกันจากทางใดบ้าง
การติดเชื้อราอาจเกิดได้จากการสัมผัสกับเชื้อราโดยตรง การสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อรา เสื้อผ้า และสิ่งของต่างๆ ของผู้ที่ติดเชื้อรา รวมไปถึงติดเชื้อราจากสัตว์เลี้ยง เช่นแมว เป็นต้น
สามารถติดเชื้อราจากสัตว์เลี้ยงได้หรือไม่
เชื้อราจากสัตว์เลี้ยง สามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยการสัมผัสกับผิว หรือขนของแมวที่ติดเชื้อราโดยตรง โดยสปอร์ของเชื้อราจะหลุดร่วงมาจากผิวหรือขนของแมว และแพร่สู่คน โดยเชื้อราอาจสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
โรคเชื้อรามีวิธีรักษาอย่างไร หายขาดหรือไม่
โรคเชื้อราสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยตนเองได้ โดยการใช้ยาทาต้านเชื้อรา ชนิดทาภายนอก ที่มีคุณสมบัติกำจัดเชื้อรา และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เช่นตัวยากลุ่ม โคลไตรมาโซล และ ไบโฟนาโซล โดยทายาบริเวณที่เป็นโรคบาง ๆ วันละ 2 ครั้งสำหรับครีมรักษาโรคเชื้อราผิวหนังที่มีตัวยาโคลไตรมาโซล และวันละ 1 ครั้งสำหรับครีมที่มีตัวยาไปโฟนาโซล ที่สำคัญควรทาให้เลยบริเวณขอบที่เป็นประมาณ 1-2 เซนติเมตร และควรทาต่อเนื่องในช่วงเวลา 2- 4 สัปดาห์ แม้มีอาการดีขึ้น หรือเหมือนจะหายแล้วก็ตาม
อาการแบบไหนต้องพบแพทย์?
หากเป็นโรคเชื้อรานานเกินกว่า 4 สัปดาห์ และผื่นคันมีจำนวนมาก ไม่ทุเลาจากการทายาต้านเชื้อรา หรือติดเชื้อราที่หนังศีรษะ และเล็บเท้า ควรพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด และอาจรับประทานยาควบคู่กันไปด้วย
หากไม่ทำการรักษาจะเกิดอะไรขึ้น
หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาเลย การติดเชื้อราที่ผิวหนังอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรกับผิว และลุกลามจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติในชีวิตประจำวันได้ และในบางกรณี การติดเชื้อราที่รุนแรงขึ้นอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
มีวิธีป้องกันการติดเชื้อราได้หรือไม่
วิธีการป้องกันการติดโรคเชื้อรา คือต้องรักษาสุขอนามัย ความสะอาดของร่างกายตนเอง และสภาพแวดล้อมที่อยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่คลุกคลีกับผู้ที่เป็นโรคเชื้อรา และรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เนื่องจากการติดเชื้อราเกิดในคนภูมิกันต่ำ
เอกสารอ้างอิง