พฤติกรรมเสี่ยง 
"ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด"
พร้อมวิธีรักษา

รู้หรือไม่? ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ภาวะนี้เกิดจากการที่แบคทีเรียชนิดไม่ดีในช่องคลอดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อสมดุลของแบคทีเรียและอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในบทความนี้ ขอเชิญชวนผู้หญิงทุกคนมารู้จักภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมีอาการอย่างไร พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ พร้อมแนะนำการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

ผู้ชายกับผู้หญิงกำลังสนทนากัน

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) คือ ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacilli) ซึ่งช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่จะก่อโรคในช่องคลอดมีจำนวนลดลง ทำให้แบคทีเรียชนิดไม่ดีมีจำนวนเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการอักเสบและเกิดตกขาวตามมา

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดนั้นเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้หญิงแม้ว่าจะไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก็ตาม และไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

อาการของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

  • ตกขาวผิดปกติ นอกจากจะมีปริมาณมากกว่าปกติแล้วนั้น ลักษณะของตกขาวที่เกิดขึ้นจะเป็นสีขาว เนียนปนสีเทาอ่อน
  • มีกลิ่นคาว เหม็นคาวปลา โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์ และมีลักษณะเป็นน้ำ เป็นฟอง หรือเป็นแผ่นแตกต่างกันไป
  • รู้สึกแสบขณะปัสสาวะหรือขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีอาการคัน ระคายเคืองบริเวณช่องคลอดทั้งภายในและบริเวณภายนอกช่องคลอด
     

พฤติกรรม ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ช่องคลอดติดเชื้อแบคทีเรีย

  • การสวนล้างช่องคลอด
  • การใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยบริเวณจุดซ่อนเร้น
  • การใช้แผ่นอนามัยที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ 
  • การคุมกำเนิดโดยการใช้ห่วงคุมกำเนิด หรือการกินยาคุมกำเนิด
  • การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ 
  • การสวมกางเกง กระโปรง ที่รัดแน่นจนเกินไป
  • การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รับประทานของหมักดองหรืออาหารคาวจัดก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดขึ้นได้
     

การรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด สามารถหายได้เองหากได้รับวิธีรักษาอย่างถูกต้อง ด้วยการปรับสมดุลช่องคลอด การใช้ยาที่มีกรดแลคติกและไกลโคเจน (Lactic acid and Glycogen) ออกฤทธิ์ช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่างรักษาอาการของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนี้ได้ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียไม่ดี เพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียดีชนิดแลคโตบาซิลลัส (Lactobacilli) เพื่อปรับสมดุลในช่องคลอด ลดการเกิดโรคซ้ำได้ในระยะยาว และการรักษากลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

รวมถึงตกขาวผิดปกติที่เกิดจากภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ควรใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากมีการละเลยไม่รีบหาทางรักษาอาจเกิดภาวะอื่นตามมาได้ เช่น เสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนช่วงตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวของทารกน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

การป้องกันเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดป้องกันได้ เพียงแค่เรียนรู้วิธีและเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

  • ไม่สวนล้างช่องคลอด เนื่องจากเป็นการนำเชื้อแบคทีเรียดีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อออกจากร่างกาย
  • ลดการใช้น้ำยาอนามัยให้มากที่สุด ใช้น้ำเปล่าในการล้างทำความสะอาด เพื่อไม่ไปรบกวนสมดุลของแบคทีเรีย 
  • เลี่ยงการใช้แผ่นอนามัยแบบมีน้ำหอม ที่อาจทำให้ช่องคลอดอักเสบได้
  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย หรือใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  • ดูแลความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ไม่สวมใส่ชุดที่อับชื้น รวมถึงกางเกง กระโปรงที่รัดแน่นจนเกินไป ไม่ใช้ชุดชั้นในร่วมกับผู้อื่น
  • เปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอขณะมีประจำเดือน เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างที่ทำการรักษา

การดูแลความสะอาดร่างกายตัวเองจะช่วยลดการเกิดภาวะนี้ลงได้ รวมทั้งการสังเกตตัวเองเป็นประจำจะทำให้รู้ทันการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดได้รวดเร็วขึ้น เพื่อจะได้หาหนทางรักษาต่อไป แต่หากความผิดปกติที่เกิดขึ้นเริ่มรุนแรงจนส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิต ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนที่ภาวะนี้จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นตามมา