ชวนดูอาการเชื้อราในช่องคลอดเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร

อาการคันและตกขาวเนื่องจากเป็นเชื้อราในช่องคลอด นอกจากจะทำให้คุณผู้หญิงรู้สึกไม่สบายตัวแล้ว ยังทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เพราะต้องคอยเก็บอาการคันยุกยิกอยู่บ่อย ๆ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิต การเรียน และการทำงานได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดความกังวลใจว่า อาการเชื้อราในช่องคลอดสามารถรักษาให้หายเองได้ไหม และมีวิธีการดูแลอย่างไรให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำ

บทความนี้ จะพาคุณไปดูว่าเชื้อราในช่องคลอดมีสาเหตุมาจากอะไร และอาการเชื้อราในช่องคลอดเป็นอย่างไร พร้อมมีคำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับวิธีการรักษาและดูแลตัวเองให้ไกลจากการเป็นเชื้อราในช่องคลอดมาบอกกัน

 เชื้อราในช่องคลอดคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร?

อาการเชื้อราในช่องคลอด เกิดจากภาวะที่เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งคือ เชื้อราลักษณะยีสต์ที่เติบโตมากผิดปกติ เชื้อราชนิดนี้สามารถพบได้ตามธรรมชาติบริเวณช่องคลอดของคุณผู้หญิง แต่ถ้าเชื้อรามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนเสียสมดุล จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองและคันบริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอกได้

สาเหตุของอาการเชื้อราในช่องคลอด

  • ปริมาณแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสในช่องคลอดลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ทำให้ความเป็นกรดเป็นด่างในช่องคลอดเสียสมดุล จนไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อราได้
  • ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จากการตั้งครรภ์ หรือการรับประทานยาคุมกำเนิด หรืออยู่ระหว่างการรักษาอาการป่วยด้วยฮอร์โมนบำบัด
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีความเสี่ยงต่อการเป็นเชื้อราในช่องคลอดได้ง่ายขึ้น
  • ระบบภูมิต้านทานในร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วย HIV
  • ทำความสะอาดช่องคลอดไม่ถูกวิธี หรือใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยบริเวณช่องคลอดบ่อย ๆ อาจทำให้เสียสมดุลภายในช่องคลอดได้

อาการเชื้อราในช่องคลอดเป็นอย่างไร?

โรคเชื้อราในช่องคลอดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยพบว่าผู้หญิงร้อยละ 75 จะเคยเป็นอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งส่วนมากมักมีอาการ ดังนี้

  • เกิดอาการคันอย่างรุนแรงและระคายเคืองที่ปากช่องคลอด หรือภายในช่องคลอด
  • มีอาการแสบร้อนภายในช่องคลอด โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ
  • ตกขาวผิดปกติ อาจมีลักษณะสีขาวครีมข้นคล้ายนมบูด แต่ไม่มีกลิ่น บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นน้ำใส ได้เช่นกัน

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเชื้อราในช่องคลอดในภาวะอาการรุนแรง หรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดเชื้อราซ้ำซ้อน จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ผู้ชำนาญการและต้องรักษาอาการโดยเร็ว เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีลักษณะอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการคันรุนแรง บริเวณปากช่องคลอดจะบวมแดง มีอาการอักเสบ และเกิดแผลได้ 
  • เกิดผื่นแดงทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด อาจเกิดการกระจายไปทั่วบริเวณอวัยวะเพศ หรือต้นขา
  • มีการติดเชื้อรามากกว่า 4 ครั้งขึ้นไป หรือติดเชื้ออื่นที่ไม่ใช่เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์
  • มีการติดเชื้อ ขณะกำลังตั้งครรภ์

วิธีการรักษาและป้องกันตนเองจากโรคเชื้อราในช่องคลอด

วิธีการรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด

การรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอดทำได้โดยการใช้ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug) เป็นหลัก โดยผู้ที่มีอาการสามารถซื้อยามารักษาได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น

  • ยารับประทาน เช่นยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 
  • ยาสอดเพื่อลดอาการตกขาวจากเชื้อรา สามารถใช้ยาโคลไทรมาโซล (Clotrimazole) ยาไมโคนาโซล (Miconazole) ยาขนาด 500 มิลลิกรัม สำหรับใช้ครั้งเดียว หรือ 100 มิลลิกรัม สำหรับใช้ 6 วัน 
  • ครีมทาภายนอกบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อลดอาการคัน แต่ยาชนิดนี้จะไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อได้ จึงควรใช้ครีมทาร่วมกับการรับประทานยา หรือใช้ยาสอดในช่องคลอด

ทั้งนี้ แต่ละคนอาจเหมาะกับวิธีที่แตกต่างกัน รวมถึงการเลือกใช้ยาควรพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการด้วย โดยสามารถปรึกษาเภสัชกร หรือขอคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อการรักษาและเลือกใช้ยาที่เหมาะสม

การป้องกันโรคเชื้อราในช่องคลอด

  • หลังจากเข้าห้องน้ำควรเช็ดทำความสะอาดช่องคลอดจากหน้าไปหลัง เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากทวารหนักกระจายเข้าสู่ช่องคลอด
  • ควรสวมใส่กระโปรง กางเกง รวมถึงกางเกงชั้นในที่ไม่รัดจนเกินไป และเลือกที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย หรือที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อการระบายอากาศได้ดี ช่วยลดความอับชื้น
  • ไม่ควรสวมชุดออกกำลังกาย ชุดว่ายน้ำ หรือชุดที่ชุ่มเหงื่อและมีความอับชื้นเป็นเวลานาน ๆ  ควรรีบเปลี่ยนทันทีหลังทำกิจกรรมเสร็จ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นเกินความจำเป็น และไม่ควรสวนล้างช่องคลอดบ่อยจนเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) เช่น โยเกิร์ตหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่น ๆ เพื่อช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างในช่องคลอด
  • ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ในช่วงที่มีประจำเดือน เพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น ซึ่งจะส่งผลให้เชื้อราเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
  • ควรใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง และไม่ใช้ยาเกินความจำเป็น 
  • รักษาระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ถึงแม้เชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรักษาสุขอนามัย เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคเชื้อราในช่องคลอด เพื่อช่วยให้เราไม่ต้องคอยกังวลกับอาการคันและระคายเคืองจากเชื้อราในช่องคลอดอีกต่อไป
 

แหล่งอ้างอิง : 

  1. ภาวะเชื้อราในช่องคลอด ปัญหาพบบ่อยที่ผู้หญิงควรรู้ สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/june-2019/vaginal-candidiasis
  2. เชื้อราในช่องคลอด     สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=867
  3. เชื้อรา...ปัญหาของตกขาวคันในสตรี สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 จาก  https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=719
  4. เชื้อราในช่องคลอด อย่าปล่อยให้กวนใจ สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 จาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/939/Candidiasis
  5. เชื้อราในช่องคลอด สืบค้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 จาก https://www.pobpad.com/เชื้อราในช่องคลอด