ชี้ชัดโรคกลากและเกลื้อน ต่างกันอย่างไร รักษาหายเองได้ไหม

ชวนทุกคนมาเรียนรู้ว่าโรคกลากเกลื้อนมีความแตกต่างกันอย่างไร สามารถแพร่กระจายได้อย่างไร รวมถึงสาเหตุของการเกิดโรคกลากเกลื้อน และผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากที่สุด พร้อมคำแนะนำว่าโรคกลากเกลื้อน มีวิธีการรักษาและวิธีการป้องกันอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาโรคกลากเกลื้อน

โรคกลากคืออะไร?

โรคกลาก มีสาเหตุจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ ซึ่งเป็นเชื้อราก่อโรคที่ผิวหนังได้หลายโรค ทางการแพทย์เรียกโรคกลากว่า Tinea Corporis โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นบนสุด1 โดยปกติจะแสดงอาการเป็นผื่นแดงหรือสีเทา ผิวอาจเป็นสะเก็ด แห้ง บวม หรือคัน2

รอยโรคจากการติดเชื้อนี้มีลักษณะเป็นวงกลม1 วงโรคกลากมักจะขยายออกเมื่อโรคลุกลาม ในขณะที่ผิวหนังตรงกลางวงอาจหายและกลับเป็นสีผิวปกติ

โรคกลากสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น ขาหนีบ (สังคัง) หรือเท้า (โรคน้ำกัดเท้า) กลากบนใบหน้าหรือหนังศีรษะ ซึ่งอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ2  ได้

โรคกลากและโรคเกลื้อน ต่างกันอย่างไร

โรคเกลื้อน ต่างจากโรคกลาก ตรงที่มีสาเหตุจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ ซึ่งสามารถพบได้ตามรูขุมขนและผิวหนังตามธรรมชาติ หากมีความอับชื้นหรือมีเหงื่อออกมาก เชื้อราจะเจริญเติบโตมากขึ้น และส่งผลให้ผิวเกิดรอยโรคและอาการคันได้

ลักษณะของโรคเกลื้อน จะเป็นรอยด่างหรือรอยแต้มสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน วงเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร เมื่อเกาจะกลายเป็นขุยเล็ก ๆ สีขาวฟูขึ้นมา 

โรคเกลื้อนสามารถเกิดในบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะ เช่น กลากเกลื้อนที่หลัง หน้า ต้นคอ และหน้าอก

ใครเป็นโรคกลากเกลื้อนได้บ้าง?

หากผิวหนังของคุณเปียกน้ำเป็นเวลานาน จะทำให้เชื้อราโรคกลากเกลื้อนสามารถแทรกเข้าชั้นบนสุดของผิวหนังคุณได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งหากคุณมีบาดแผลหรือรอยถลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกลากเกลื้อนได้

นอกจากนี้ คุณยังมีความเสี่ยงมากขึ้น หากคุณเดินย่ำบริเวณที่มีน้ำขัง ใส่เสื้อผ้า รองเท้า ชุดชั้นในที่อับชื้นจากเหงื่อเป็นเวลานาน เนื่องจากเชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่ชื้น และอุ่น ตลอดจนคุณยังอาจเป็นโรคกลากและเกลื้อนได้หากใช้เสื้อผ้าร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ5