การดูแลตนเองเมื่อเป็นตกขาวที่ผิดปกติ และการป้องกันตกขาว
การดูแลตนเองเมื่อเป็นตกขาวที่ผิดปกติ
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของความอับชื้น
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย ถ้าจำเป็นควรให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะรับการรักษา เพราะอาจมีผลกับยาที่รักษาทำให้ไม่สบาย ปวดเมื่อยตัว หน้าแดง หรือใจสั่นได้
- ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง เพราะสาเหตุที่ทำให้ตกขาวผิดปกตินั้นมีได้หลากหลาย ซึ่งการซื้อยามารับประทานเองอาจทำให้ไม่หายเพราะใช้ยาไม่ตรงกับโรค อาจทำให้มีโรคอื่นแทรกซ้อนตามมา และอาจเป็นสาเหตุให้กลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังจากเชื้อดื้อยาได้ (การใช้ยาทุกชนิดควรอยู่ภายใต้คำแนะของแพทย์หรือเภสัชกร)
- อาการตกขาวผิดปกติมักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาทั้งผู้ป่วยและคู่นอนไปด้วยพร้อม ๆ กัน นอกจากนั้นอาการตกขาวผิดปกติยังอาจเกิดได้จากโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการไปพบแพทย์ตั้งแต่แรกจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และให้ผลในการรักษาที่ดีกว่าการพบโรคในระยะรุนแรงที่มีอาการมากแล้ว
- ตกขาวผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อ ถึงแม้จะได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว แต่ถ้ากลับไปติดเชื้ออีกก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ส่วนในรายที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น ผลการรักษามักจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง
- ในรายที่เป็นโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อก็ต้องรักษาหรือควบคุมโรคให้ดี เช่น โรคเบาหวาน
วิธีป้องกันตกขาว
เราสามารถป้องกันการเกิดตกขาวที่ผิดปกติได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงและลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ ดังนี้
- รักษาความสะอาดของช่องคลอดและอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเลือกใช้สบู่อ่อนโยนต่อจุดซ่อนเซ้น
- ล้างช่องคลอดด้วยน้ำและสบู่อ่อน ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบหรือระคายเคือง (หลังจากล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ในการทำความสะอาดอวัยวะเพศควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่เช็ดจากหลังมาหน้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากทวารหนักมาที่ช่องคลอด)
- เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคในห้องน้ำ ควรทำความสะอาดห้องน้ำอยู่เสมอ และทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ก่อนการใช้งานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ไม่ปล่อยให้บริเวณช่องคลอดอับชื้นหรือชื้นแฉะ เพราะสภาพเหล่านี้จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น เมื่อรู้สึกร้อนหรือเหนอะหนะบริเวณปากช่องคลอด ควรทำความสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด การใช้ยาดับกลิ่น หรือการใช้น้ำยาอนามัยล้างเฉพาะที่โดยไม่จำเป็น เพียงแต่ทำความสะอาดภายนอกด้วยน้ำสะอาดอย่างเดียวและซับให้แห้งก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยรักษาความสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด
- สวมใส่กางเกงชั้นในที่สะอาด ทำจากผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่หนา คับ อึดอัด หรือทำให้อับชื้นได้ง่าย (ส่วนในเด็กผู้หญิงที่ใส่กางเกงชั้นในใยสังเคราะห์ บางครั้งอาจไม่รู้จักรักษาความสะอาดและปล่อยให้อบหรืออับชื้น ก็อาจทำให้มีน้ำเมือกจากช่องคลอดออกมาเปื้อนกางเกงในได้ ซึ่งจะไม่มีกลิ่นและไม่คัน ให้รักษาความสะอาดด้วยการใช้น้ำสะอาดชะล้างและเปลี่ยนมาใช้กางเกงในผ้าฝ้ายแทน)
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแผ่นบางติดต่อกันทุกวัน เพราะอาจจะทำให้เกิดความอับชื้นและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน และเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง
- หากเคยมีอาการตกขาวผิดปกติจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรให้คู่นอนเข้ารับการรักษาการติดเชื้อดังกล่าวด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำภายหลังจากที่รักษาจนหายดีแล้ว
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยที่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพื่อป้องกันอาการระคายเคือง
- ควบคุมและรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน
- ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ควรหาทางลดความอ้วนหรือควบคุมน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสม
- ปฏิบัติตามสุขบัญญัติเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง เช่น รับประทานอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด, ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย, ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด, งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด, หลีกเลี่ยงการสำส่อนทางเพศ, ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- หากพบว่ามีตกขาวผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา รวมถึงรับคำแนะนำต่าง ๆ จากแพทย์และพยาบาล เพื่อสุขอนามัยที่ดี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
L.TH.MKT.03.2021.1920