เชื้อราแมว (Cat Fungus)
สัตว์เลี้ยงของคุณ ก็มีโอกาสเป็นเชื้อราที่ผิวหนังได้ และยังสามารถนำมาติด หรือแพร่สู่เจ้าของได้อีกด้วย อันที่จริงเชื้อราแมวมีหลายชนิด แต่โดยทั่วไปมักจะเกิดจากเชื้อรากลุ่ม Microsporum Canis ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้แมวเป็นโรคผิวหนัง โดยเฉพาะในแมวหรือสัตว์เลี้ยงที่มีขนยาว และเชื้อรานี้ยังสามารถติดต่อมายังเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้โดยตรง ผ่านการสัมผัส อุ้ม หรือกอด จนทำให้เป็นโรคผิวหนังแบบเดียวกันได้
สาเหตุของการติดเชื้อราในแมว
สาเหตุหลักของเชื้อราในแมวหรือสัตว์เลี้ยง จะเกิดจากความชื้นสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำแล้วไม่เป่าขนให้แห้งสนิท หรือการที่เจ้าของปล่อยสัตว์เลี้ยงออกไปเดินหรือเล่น บนพื้นที่มีความชื้น อย่างพื้นดิน หรือพื้นหญ้าชื้น โดยไม่ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงสม่ำเสมอ ก็ยิ่งมีโอกาสติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้การติดเชื้อราในสัตว์เลี้ยง อาจมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น สุขภาพของแมวหรือสัตว์เลี้ยง หากเป็นแมวเด็ก หรือแก่มาก ๆ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะมีความเสี่ยงติดได้ง่ายขึ้นเช่นกัน เชื้อราแมวสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสกับผิวหรือขนของแมวที่ติดเชื้อรา โดยสปอร์ของเชื้อราจะหลุดร่วงมาจากผิวหรือขนของแมว และแพร่สู่คน โดยเชื้อราสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี
อาการของการติดเชื้อรา
อาการของแมวติดเชื้อรา
สัตว์เลี้ยง หรือแมวจะมีอาการทางผิวหนังที่สังเกตได้ชัดเจน เช่น เกาบ่อย คัน ขนร่วงหลุดเป็นหย่อม มีผื่นแดง ตุ่มแดง เป็นสะเก็ดคล้ายรังแค เป็นต้น
อาการของเชื้อราที่แพร่สู่คน
- มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ลักษณะเป็นวง มีขุยรอบๆ ค่อย ๆ ขยายเป็นวงกว้าง
- มีอาการคัน
- หากเกาแล้วไปสัมผัสผิวหนังส่วนอื่น ก็จะทำให้ติดเชื้อราเพิ่มได้อีก
- หากติดเชื้อที่ศีรษะ จะทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม
การรักษาโรคเชื้อราแมว
สำหรับที่ผิวหนัง สามารถใช้ยาทาชนิดครีม ในกลุ่มยาฆ่าเชื้อราที่มีตัวยา โคลไทรมาโซล ตัวยา ไบโฟนาโซล ทาอย่างต่อเนื่อง 3-4 สัปดาห์ อาการผื่นแดง คันตามร่างกาย จะดีขึ้นตามลำดับ แต่หากมีผื่นแดงเป็นจำนวนมาก หรือติดเชื้อที่หนังศีรษะ ควรพบแพทย์ เพื่อรับประทานยาต้านเชื้อราควบคู่ไปด้วย
วิธีป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อรา
- ทำความสะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง
- ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ และเป่าขนให้แห้งทุก
- ทำความสะอาดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และบริเวณที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ
- พาแมวหรือสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันเชื้อรา
เอกสารอ้างอิง
บทความทางการแพทย์
สพ.ญ.อาภาพรเพียรรุ่งโรจน์ สัตวแพทย์ประจําคลินิกเฉพาะทางโรคผิวหนัง โรงพยาบาลสัตว์เล็กคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ. นพ.สมศักดิ์ ตันรัตนากร สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อ. ดร. พญ.กรวลี มีศิลปะวิกกัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย