รู้จักโรคน้ำกัดเท้า และการเลือกใช้ยารักษาฮ่องกงฟุต
"โรคน้ำกัดเท้า" หรือฮ่องกงฟุต เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราที่เรียกว่า Dermatophytes ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่เปียกชื้น ไม่ว่าจะเป็นชื้นจากเหงื่อ หรือจากน้ำท่วมขัง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่เพียงการลุยน้ำเท่านั้น วันนี้เรามีเรื่องน่ารู้และยารักษาฮ่องกงฟุตที่ทุกคนควรรู้มาฝากกัน
โรคน้ำกัดเท้าไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนเท่านั้น
เราอาจจะเคยได้ยินว่า เดินลุยน้ำมาก ๆ จะเป็นโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต หลายคนจึงคิดว่ามีเฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้นที่เสี่ยง แต่อันที่จริงแล้ว ในช่วงหน้าร้อนที่แสงแดดร้อนแรงก็มีความเสี่ยงต่อโรคนี้เช่นเดียวกัน
เนื่องจากโรคน้ำกัดเท้า ไม่ได้หมายถึงน้ำท่วม หรือการเดินลุยน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเหงื่อ และน้ำอื่น ๆ อีกด้วย เพราะหากว่าหลังจากออกกำลังกาย เดิน หรือหลังอาบน้ำ เราไม่เช็ดซอกเท้าให้แห้งและสะอาด เราก็เสี่ยงต่อโรคฮ่องกงฟุตได้เช่นเดียวกัน
เดินลุยน้ำระยะทางสั้น ๆ หรือใช้ของร่วมกับคนอื่นก็เสี่ยงพอกัน
ในช่วงที่ฝนตกน้ำท่วมขัง คนที่เดินทางโดยรถสาธารณะอาจจะมีจังหวะที่ต้องเดินลุยน้ำ ลุยฝน แม้ว่าเป็นระยะทางสั้น ๆ ก็เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราเช่นกัน นอกจากนี้ การใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นถุงเท้า รองเท้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า รวมไปถึงการสวมถุงเท้าหรือรองเท้าซ้ำกันหลายวัน ก็เสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อราได้โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น นอกจากจะระมัดระวังความอับชื้นจากการเดินลุยน้ำ ก็ควรจะระมัดระวังเรื่องการใช้ของร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการซื้อรองเท้ามือสอง ที่ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคจนแน่ใจก่อนว่าไม่มีเชื้อราตกค้าง ทำให้กลายเป็นเกิดโรคจากเชื้อราได้
พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
ผู้ชายมีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคน้ำกัดเท้ามากกว่าผู้หญิง และยังพบในนักกีฬา และผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากคนที่ออกกำลังกายมักจะเล่นกีฬาอย่างหนักจนเหงื่อโชกสะสมบริเวณง่ามเท้า หากไม่ดูแลรักษาความสะอาดดี ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความอับชื้น และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ และนี่เป็นที่มาของการเรียกโรคนี้ว่าเป็นโรคเท้านักกีฬา หรือ “แอทลีตฟุต” (Athlete’s foot)
วิธีป้องกันทางหนึ่งก็คือ หลังออกกำลังกายให้ทำความสะอาดเท้าให้แห้ง เปลี่ยนเป็นรองเท้าสำหรับใส่ทั่วไป และทำความสะอาดรองเท้ากีฬา ด้วยการซักและตากแดดเป็นประจำ เพื่อสุขอนามัยที่ดี
โรคสังคังและฮ่องกงฟุต เกิดจากเชื้อราตัวเดียวกัน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ฮ่องกงฟุตเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Dermatophytes ซึ่งเติบโตได้ดีในที่ที่อับชื้น แต่เชื้อราตัวนี้ไม่ได้สะสมอยู่แค่เพียงแต่บริเวณที่เท้าเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นที่ผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วย ซึ่งหากเกิดบริเวณขาหนีบจะเรียกว่า สังคัง แต่หากเกิดบริเวณง่ามเท้าจะเรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือโรคน้ำกัดเท้านั่นเอง
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคสังคัง หรือว่าโรคฮ่องกงฟุต แนวทางการรักษาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเราสามารถใช้ยาทาฮ่องกงฟุต ทาบริเวณที่เป็นสังคังได้เช่นเดียวกัน
อาการของโรคฮ่องกงฟุต
เบื้องต้นจะมีอาการคันตามซอกเท้า และผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะลอกออกมา บางคนอาจจะเป็นผื่นที่เท้า หรือมีอาการส้นเท้าแตกมากอีกด้วย
การป้องกันโรคฮ่องกงฟุตและโรคสังคัง
การป้องกันโรคฮ่องกงฟุตนั้นง่ายกว่าการรักษา และเกิดผลกระทบน้อยกว่า โดยควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- เช็ดง่ามเท้าให้แห้งหลังอาบน้ำ หรือล้างเท้าทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเปียกชื้นและสะสมเชื้อราโดยที่ไม่รู้ตัว
- หลังเดินลุยน้ำท่วมขัง แอ่งน้ำ หรือเดินลุยฝน ควรล้างเท้าให้สะอาด จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณง่ามขา
- ใส่ถุงเท้าทุกครั้งที่ใส่รองเท้าหุ้มส้น ที่ปิดทึบ เช่น รองเท้าคัตชู รองเท้าผ้าใบ รวมถึงรองเท้าแบบอื่น ๆ
- สวมถุงเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น
- ไม่ใช้รองเท้า ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว รวมถึงเสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น
- ทำความสะอาดเท้าและเช็ดเท้าให้แห้งหลังเล่นกีฬาทุกครั้ง และควรจะมีรองเท้ากีฬาเปลี่ยนเฉพาะตอนเล่นกีฬาโดยเฉพาะ
หากว่าเรามีอาการคันจากเชื้อรา ห้ามเกาอย่างเด็ดขาด เพราะยิ่งทำให้เชื้อราลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่นได้ โดยจะติดไปตามเล็บ นิ้วมือ
การรักษา
หากว่าเราเป็นโรคฮ่องกงฟุต เบื้องต้นให้เราใช้ยาฆ่าเชื้อราก่อน ที่มีตัวยาโคลไทรมาโซล ตัวยา ไบโฟนาโซล โดยให้ทำความสะอาดมือและบริเวณที่เป็นก่อนทายาทุกครั้ง และทายาให้ครบกำหนดตามคำแนะนำของเภสัชกร หรือที่ระบุเอาไว้บนฉลาก แม้อาการจะหายไปแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
สำหรับคนที่มีอาการค่อนข้างมาก อาจจะมีอาการบวม แดง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อหลายประเภท ทั้งเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรียร่วมด้วย การเลือกใช้ยารักษาอาการฮ่องกงฟุตที่มีตัวยาไบโฟนาโซล ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างครอบคลุม ลดอาการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการได้มากกว่ายาฆ่าเชื้อราทั่วไป หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
แม้ว่าโรคฮ่องกงฟุตจะไม่ใช่โรคอันตราย แต่ก็สร้างความรำคาญให้แก่เราได้ ทางที่ดีควรป้องกันโดยการรักษาความสะอาด ไม่ให้เกิดการอับชื้นจะดีที่สุด แต่หากว่ามีอาการ ให้รีบใช้ยารักษาฮ่องกงฟุต เพื่อรักษาและบรรเทาอาการก่อนจะลุกลามต่อไป
แหล่งอ้างอิง
- ฮ่องกงฟุต. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/3911
- โรคน้ำกัดเท้า เชื้อราที่มาพร้อมกับน้ำท่วม. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Athlete_Foot
- โรคน้ำกัดเท้า หรือ ฮ่องกงฟุต. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://www.synphaet.co.th/โรคน้ำกัดเท้า-หรือ-ฮ่องก/