ปัญหาโรคผิวหนังของนักกีฬาและการรักษาด้วยยาทาฆ่าเชื้อรา

รู้หรือไม่ นักกีฬาที่เล่นกีฬาหนัก ๆ เป็นประจำ อาจจะเสี่ยงต่อโรคผิวหนัง อย่างเชื้อรา กลากเกลื้อนได้ หากว่าไม่รักษาสุขอนามัยให้ดี เพราะระหว่างที่เล่นกีฬา อาจจะเกิดการอับชื้นจากเหงื่อได้ เรามาดูกันดีกว่าว่า หากเราเป็นนักกีฬาหรือชอบออกกำลังกายจะเสี่ยงต่อโรคผิวหนังอะไรบ้าง มีวิธีป้องกัน รวมถึงรักษาด้วยยาทาเชื้อราในร่มผ้าอย่างไร

โรคสังคัง หรือเชื้อราที่ขาหนีบ

พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ทำให้ผิวหนังบริเวณขาหนีบเกิดอาการคัน แดง หรือเป็นขุยได้ 

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) ซึ่งโดยปกติจะเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังของคน แต่เมื่อพบกับความชื้นหรือหมักหมมจะทำให้เชื้อราชนิดนี้เติบโตและทำให้เกิดอาการคันได้

โรคสังคัง มักเกิดจากคนที่ใส่เสื้อผ้าอับชื้น หรือไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะนักกีฬา ผู้ที่ชอบสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น หรือสวมเสื้อผ้าสกปรกซ้ำหลายครั้ง ไม่รักษาสุขอนามัยของร่างกายหรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคอ้วน รวมถึงการสัมผัสเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มอื่น ๆ ที่มีเชื้อราโดยตรง หรือใช้สิ่งของที่ติดเชื้อราร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย

อาการ

เกิดผื่นแดงรูปวงกลม หรือจันทร์ครึ่งเสี้ยว และคันในบริเวณที่อับชื้น เช่น ขาหนีบ ต้นขาด้านใน บั้นท้าย อวัยวะเพศ ผื่นแดงมีขอบนูนชัดเจน มีตุ่ม หรือเป็นแผลตุ่มหนองพุพอง 

หากอาการรุนแรงในผู้หญิงอาจมีอาการตกขาวผิดปกติได้ ส่วนผู้ชายอาจเกิดการติดเชื้อที่องคชาตและอาจก่อให้เกิดการบวมแดง อักเสบ ผิวหนังแตก แผลเปิดได้ 

การรักษา

ใช้ยาทาเชื้อราในร่มผ้าอย่างโคลไทรมาโซล และดูแลความสะอาดของเสื้อผ้า อย่าใส่เสื้อผ้าที่อับชื้นเป็นเวลานาน และเลือกใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ง่าย หากว่าออกกำลังกายก็ให้เลือกเสื้อที่แห้งไว เพื่อลดความอับชื้น

นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ กับผิวบริเวณขาหนีบ ข้อพับ เพราะอาจจะทำให้ระคายเคือง และเกิดการอักเสบมากขึ้น

เชื้อราที่เท้า หรือโรคฮ่องกงฟุต

เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราตัวเดียวกับโรคสังคัง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเดินลุยน้ำเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการอับชื้นจากเหงื่อในรองเท้า ทำให้เกิดเชื้อราและกลายเป็นโรคฮ่องกงฟุตได้ 

สาเหตุ

ติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) มักเกิดจากความอับชื้น ใส่ถุงเท้าที่ไม่ระบายอากาศ หรือใส่ซ้ำ รวมถึงการสวมใส่รองเท้ากีฬาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้มีการหมักหมมของเหงื่อบริเวณเท้า ทำให้เกิดเชื้อราได้ 

อาการ

มีอาการคัน บริเวณง่ามเท้าเป็นขุย เป็นผื่นวง ๆ เท้าเปื่อย ลอก มีกลิ่นเหม็นตามซอกเท้า

การรักษา

การรักษาในเบื้องต้นให้ใช้ยาทาฆ่าเชื้อราที่มีตัวยาโคลไทรมาโซล หรือไบโฟนาโซล เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และรักษาความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งหลังอาบน้ำ หรือเล่นกีฬาทุกครั้ง

 

เกลื้อน

โรคผิวหนังอีกอย่างหนึ่งที่คนเล่นกีฬามักเป็นกันบ่อย ๆ ก็คือ เกลื้อน ซึ่งเป็นโรคเชื้อราที่มีสาเหตุจากความอับชื้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากว่าเราเล่นกีฬาแล้วเหงื่อออกจนเสื้อเปียกเป็นเวลานาน ก็อาจจะเป็นโรคเกลื้อนได้ 

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) มักเกิดกับคนที่ใส่เสื้อผ้าที่อับชื้นหรือมีเหงื่อเป็นประจำ 

อาการ

จะมีผื่นดวงกลม ๆ เล็ก ๆ ขึ้นบนผิวหนัง โดยมากจะเป็นที่หน้าอก หลัง บางรายอาจจะเป็นที่ใบหน้า มีขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร แยกกันเป็นดวง ๆ บางดวงจะเป็นสะเก็ดบาง ๆ ถ้าเรื้อรังอาจจะรวมกันเป็นผื่นขนาดใหญ่ มีทั้งสีขาว สีน้ำตาล และสีดำ

การรักษา

โรคเกลื้อนแม้ไม่เป็นอันตราย แต่ก็เป็นเรื้อรัง แนะนำให้ทายาฆ่าเชื้อราที่ฆ่าเชื้อราได้อย่างครอบคลุม เช่น ไบโฟนาโซล โคลไทรมาโซล หรือไมโคนาโซล (Miconazole) 

การป้องกันโรคผิวหนังของนักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ

ชอบออกกำลังกาย แต่ไม่อยากเป็นโรคผิวหนัง เรามีวิธีการป้องกันมาฝากกัน รับรองว่าได้ผลอย่างแน่นอน 

  • ดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรอาบน้ำ หรือทำความสะอาดร่างกายหลังออกกำลังกายทุกครั้ง แต่หากว่าทำไม่ได้ อย่างน้อยให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อลดความเปียกอับชื้น 
  • ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่เปียกชื้น หรือเหม็นอับ 
  • เลือกใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี แห้งไว ควรเลือกเสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อใส่ออกกำลังกายโดยเฉพาะ ที่มีคุณสมบัติในการระบายอากาศ ลดความอับชื้น 
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือผ้าเช็ดตัว 
  • ไม่ปล่อยให้ผิวเปียกชื้นเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังออกกำลังกายทันที
  • ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ควรเลือกชุดชั้นในที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ

ข้อแนะนำในการทายาทาเชื้อราในร่มผ้า

  1. ควรทำความสะอาดมือและบริเวณที่มีอาการก่อนทายาทุกครั้ง
  2. ควรทายาให้ครบตามระยะเวลาที่ระบุเอาไว้บนฉลาก แม้อาการจะหายไปแล้ว เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ 

ข้อแนะนำในการเลือกยาแก้เชื้อรา

ควรหลีกเลี่ยงยาทาเชื้อราในร่มผ้าที่มีเนื้อแบบโลชั่น ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซเลทในบริเวณที่ผิวหนังบอบบาง อย่างบริเวณขาหนีบ เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง แนะนำให้ใช้ยาทาฆ่าเชื้อราแบบครีมแทน และหากว่ามีอาการปวด บวม แดง ร่วมด้วย ควรเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อราที่ช่วยลดอาการอักเสบได้ เช่น ตัวยาไบโฟนาโซล ซึ่งเป็นยาทาฆ่าเชื้อราที่ทาเพียงวันละครั้ง สะดวก ไม่ยุ่งยาก 

นี่คือ 3 โรคผิวหนังที่คนเล่นกีฬาเป็นประจำเสี่ยงที่จะเป็น แต่เราสามารถป้องกันได้ เพียงแค่ดูแลสุขอนามัย ไม่ใส่เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้าที่เปียกชื้น หรือใส่ซ้ำ และหากว่ามีอาการให้รักษาด้วยยาทาเชื้อราในร่มผ้าอย่างต่อเนื่อง แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

แหล่งอ้างอิง  

  1. กลากเกลื้อน. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://th.yanhee.net/หัตถการ/กลากเกลื้อน/  
  2. ฮ่องกงฟุต. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/3911 
  3. สังคัง (TINEA CRURIS). สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://www.pobpad.com/สังคัง 
  4. กีฬากับปัญหาผิวหนัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/5720 
  5. สังคัง (Tinea Cruris) เกิดจากอะไร รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://www.rattinan.com/tinea-cruris/ 
  6. ลักษณะ สังคังในผู้หญิง พร้อมวิธีรักษาและป้องกัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://hellokhunmor.com/สุขภาพผิว/โรคผิวหนังติดเชื้อ/ลักษณะ-สังคังในผู้หญิง-วิธีรักษา-วิธีการป้องกัน/ 
  7. สังคังมีอาการเป็นอย่างไร สังคังเกิดมาจากอะไร สังคังมักจะเกิดบริเวณไหนบ้าง. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 จาก https://th.theasianparent.com/tinea-cruris