การวินิจฉัยและการรักษาตกขาว
การวินิจฉัยตกขาว
หากพบว่ามีตกขาวที่ผิดปกติ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุและรับการรักษา โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ การเจ็บป่วยที่ผ่านมาหรือที่เป็นอยู่ การรักษา การใช้ยา ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และอาการของตกขาวที่พบ เช่น สีและกลิ่นของตกขาว อาการที่เกิดขึ้นร่วมด้วย และช่วงเวลาที่เริ่มมีตกขาวที่ผิดปกติ (ไม่ควรไปตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน และผู้ป่วยห้ามทำความสะอาดหรือใช้สเปรย์พ่นช่องคลอดก่อนเข้ารับการตรวจ เพราะอาจไปดับกลิ่นที่ช่วยในการวินิจฉัยและอาจเกิดการระคายเคืองตามมาได้)
หากพบสัญญาณความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อตรวจสอบอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานและหาสัญญาณของการติดเชื้อภายใน, ตรวจตกขาว โดยนำตัวอย่างของตกขาวที่เก็บได้ภายในช่องคลอดออกมาตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ และตรวจวัดค่า pH เพื่อตรวจสอบความเป็นกรดภายในช่องคลอด (ค่า pH 4.5 หรือมากกว่า) เป็นต้น
วิธีการรักษาตกขาว
สำหรับตกขาวปกติ (ตกขาวธรรมดา) ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด เพียงแต่ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามสุขอนามัยก็เพียงพอแล้ว แต่หากเป็นตกขาวที่ผิดปกติ หรือตกขาวที่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่าอาจมีสาเหตุที่ผิดปกติเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจภายในช่องคลอดและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
ซึ่งการรักษาตกขาวผิดปกตินั้นจะต้องรักษาที่สาเหตุและโรคที่ป่วยร่วมด้วย (ถ้ามี) ทั้งการรักษาด้วยยาเฉพาะทางหรือการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและความรุนแรงของโรค แต่โดยทั่วไปตกขาวผิดปกติมักจะเกิดจากการติดเชื้อประเภทแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยา ใช้ครีม/เจลทาในช่องคลอด หรือใช้ยาเหน็บช่องคลอด ดังนี้
- ตกขาวจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) เป็นอาการที่สามารถหายไปได้เอง หากผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ ที่เป็นปัญหาและไม่ได้ตั้งครรภ์ก็อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ส่วนในรายที่มีอาการ ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ดังนี้
- รับประทานยาเมโทรนิดาโซลครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว (หรือ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5-7 วัน) ส่วนในรายที่แพ้ยาเมโทรนิดาโซลหรือดื้อยา อาจให้รับประทานยาคลินดามัยซิน (Clindamycin)
- ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการให้ใช้ยาทาเฉพาะที่แทนยารับประทาน เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 500 มิลลิกรัม, เจลเมโทรนิดาโซล (Metronidazole gel) 0.75 %, ครีมคลินดามัยซิน (Clindamycin cream) 2 %
- ตกขาวจากเชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis) เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เช่นเดียวกับการรักษาอาการตกขาวจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนี้
- รับประทานยาเมโทรนิดาโซลครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว (หรือ 500/400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5-7 วัน หรือ 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน)
- ในรายที่แพ้ยาเมโทรนิดาโซล อาจให้ใช้เป็นยาทาโคลไตรมาโซล (Topical clotrimazole) แทนโดยการสอดทางช่องคลอด นาน 6 วัน
- ตกขาวจากเชื้อรา (Candida albicans) การรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะพิจารณาให้ใช้ยาเหน็บช่องคลอดโคลไตรมาโซล (Clotrimazole vaginal tablets) เพื่อยับยั้งทำลายเชื้อราและกระบวนการสร้างเซลล์ของเชื้อรา ซึ่งยานี้จะมีทั้งขนาด 100 และ 500 มิลลิกรัม (หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่หากใช้แล้วไม่หายหรืออาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา)
- สำหรับยาเหน็บโคลไตรมาโซลขนาด 100 มิลลิกรัม : ก่อนนอนให้สอดเม็ดยาครั้งละ 1 เม็ด เป็นเวลา 6 คืนติดต่อกัน (หรือสอดครั้งละ 2 เม็ด 3 คืนติดต่อกัน)
- สำหรับยาเหน็บโคลไตรมาโซลขนาด 500 มิลลิกรัม : ก่อนนอนให้สอดเม็ดยา 1 เม็ด เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอต่อการรักษา (บางรายอาจต้องสอดยาซ้ำอีก 1 เม็ด หลังจากสอดเม็ดแรก 1 สัปดาห์)
- ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาชนิดครีมทาในช่องคลอดร่วมด้วย เช่น ครีมโคลไตรมาโซล (Clotrimazole cream) 1% หรือพิจารณาให้ใช้ยาแบบรับประทาน เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
- ปัจจุบันมียาเหน็บช่องคลอดโคลไตรมาโซลที่เป็นสูตรผสมกรดแลคติกและน้ำตาลแลคโตสที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้กว้าง ทั้งเชื้อรา เชื้อทริโคโมแนส และเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด (กรดแลคติคจะช่วยคงค่าความเป็นกรดตามธรรมชาติของช่องคลอดซึ่งไม่เหมาะกับการเติบโตของเชื้อโรค ส่วนน้ำตาลแลคโตสจะช่วยในการเติบโตของแลคโตแบซิลลัสซึ่งเป็นเชื้อในธรรมชาติที่ปกคลุมช่องคลอดอยู่ จึงช่วยป้องกันการเกาะของเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ผนังช่องคลอดได้)
- คำเตือน : การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อทริโคโมแนสควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณกำลังตั้งครรภ์หรือใช้ต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ตามวิธีการรักษาด้านบนเป็นเพียงขนาดยาที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น*
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
L.TH.MKT.03.2021.1920