ตกขาว

ตกขาว ระดูขาว หรือ มุตกิด (Leukorrhea, Leucorrhea หรือ Vaginal discharge) คือ สิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีไม่ว่าจะเป็นจากช่องคลอด ปากมดลูก หรือแม้กระทั่งจากตัวมดลูกเองก็ตาม โดยถือเป็นภาวะปกติของผู้หญิงทุกคน ซึ่งในช่วงเด็กอาจมีเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีประจำเดือน ตกขาวจะมีมากขึ้นและมีปริมาณที่พอเหมาะไปจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ตกขาวมีปริมาณลดลงจนแทบไม่มีอีกครั้ง

อาการตกขาวปกติ

ตกขาวปกติ หรือ ตกขาวธรรมดา (Physiologic vaginal discharge) จะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามรอบประจำเดือน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ถ้าเป็นในช่วงกึ่งกลางรอบเดือน ตกขาวจะมีลักษณะเป็นมูกเหลวใส ไม่มีสี แต่ถ้าเป็นในช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือนตกขาวจะมีลักษณะข้นเป็นสีออกขาว (คล้ายแป้งเปียก) โดยตกขาวที่เป็นปกตินั้นจะมีลักษณะเป็นมูกเหลวใส ไม่มีสี หรือเป็นสีขาวข้นคล้ายแป้งเปียก มีปริมาณเล็กน้อยพอชุ่มชื้นในช่องคลอด อาจมีกลิ่นจำเพาะได้บ้างเล็กน้อยตามลักษณะของกลิ่นตัวเฉพาะบุคคล มีภาวะเป็นกรดอ่อน ๆ และจะไม่เหม็น ไม่คัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย (เช่น ปวดท้อง มีไข้ ขัดเบา) ส่วนปริมาณของตกขาวนั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่โดยทั่วไปแล้วปริมาณของตกขาวจะมากขึ้นได้เป็นปกติในภาวะต่อไปนี้

  • ในช่วงก่อนและหลังการมีประจำเดือน ตกขาวจะมีลักษณะข้นเป็นสีออกขาว (คล้ายแป้งเปียก) ส่วนในช่วงที่เป็นประจำเดือน ตกขาวจะมีลักษณะหนาและเหนียวข้น
  • ในช่วงกึ่งกลางระหว่างรอบเดือน (ระยะตกไข่) ตกขาวจะมีปริมาณมากและมีลักษณะเหลวใส
  • ในขณะตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะมีตกขาวมากขึ้นจนบางครั้งอาจจะเหนียวหนืด (แต่หลังวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะมีตกขาวน้อยลง)
  • ในขณะที่มีความวิตกกังวลมาก
  • การใช้ยาคุมกำเนิด
  • การกระตุ้นทางเพศสัมพันธ์ (ในขณะที่มีอารมณ์ทางเพศจะทำให้มีการหลั่งน้ำออกมาหล่อลื่นมากขึ้น) หลังจากมีเพศสัมพันธ์ก็จะมีตกขาวมากขึ้นได้เช่นกัน

การมีตกขาวในผู้หญิงทุกคนจึงเป็นภาวะปกติ

ไม่ใช่อาการแสดงถึงการเกิดโรคแต่อย่างใด แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการคัดหลั่งของตกขาวจะมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกและภายในร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน เช่น ความร้อน ความอับชื้น อารมณ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายในแต่ละช่วง เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ตกขาวธรรมดา”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 879.
  2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตกขาวปกติ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [11 ก.ค. 2016].
  3. ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “เชื้อรา...ปัญหาของตกขาวคันในสตรี”. (รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [11 ก.ค. 2016].
  4. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “ภาวะตกขาว (Vaginal Discharge)”. (นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medicine.cmu.ac.th. [11 ก.ค. 2016].
  5. หาหมอดอทคอม. “ตกขาว (Leucorrhea)”. (นพ.ธีรยุทธ เต็มธนะกิจไพศาล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [11 ก.ค. 2016].
  6. Siamhealth. “ตกขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [11 ก.ค. 2016].
  7. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “การอักเสบและโรคติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : kanchanapisek.or.th/kp6/. [12 ก.ค. 2016].
  8. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. “ตกขาวที่เกิดจากเชื้อรา”. (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [12 ก.ค. 2016].
  9. พบแพทย์. “ตกขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :pobpad.com. [14 ก.พ. 2021].

L.TH.MKT.03.2021.1920